thumbnail

Infographic_COVID-19 rss-icon
  • thumbnail
    17 ก.ย. 2564
    บสย. เปิดค้ำแล้ว พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย ปรับเกณฑ์ใหม่ช่วยกลุ่มไมโคร – SMEs เปราะบาง มากขึ้น จ่ายเบาค่าธรรมเนียมต่ำ เริ่มต้น 1 % ต่อปี นาน 4 ปี เติมสภาพคล่องขยายวงเงินสินเชื่อ สูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย
  • thumbnail
    17 ก.ย. 2564
    ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ขยายวงเงินสินเชื่อ Soft Loan ฟื้นฟูธุรกิจสำหรับลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ คิดอัตรากำไรพิเศษ 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจฝ่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและภัยโควิด โครงการสินเชื่อ Soft Loan ฟื้นฟูธุรกิจ ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นโครงการที่ไอแบงก์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อรวมที่มีอยู่กับธนาคาร แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท (ไม่รวมภาระผูกพันและวงเงินสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค) และลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด จะได้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท (ไม่รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค) ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเติมความช่วยเหลือลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ธนาคารได้ปรับเพิ่มวงเงินการให้สินเชื่อดังนี้ กรณีเป็นลูกค้าที่มีวงเงินกับธนาคารอยู่แล้ว วงเงินสูงสุดที่จะได้รับพิจารณาไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อเดิม หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 50 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน) โดยลูกค้าบางรายอาจต้องใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือหลักทรัพย์อื่นตามที่ธนาคารกำหนด สินเชื่อ Soft Loan ฟื้นฟูธุรกิจ คิดอัตรากำไรพิเศษเพียง 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (ยกเว้นกำไร 6 เดือนแรก) ปีที่ 3-5 คิดกำไรไม่เกิน 7% ต่อปี ผ่อนได้นานสูงสุด 5 ปี พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม Front–end Fee ค่านิติกรรมสัญญา และยกเว้นค่าธรรมเนียมชำระคืนเสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดอายุสัญญา (Prepayment Fee) ลูกค้าและผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและยื่นสมัครสินเชื่อได้ที่ ไอแบงก์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าวงเงินโครงการจะเต็ม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ibank Call Center 1302
  • thumbnail
    2 ก.ย. 2564
    ธ.ก.ส. จับมือ โออาร์ จัดแคมเปญลดค่าใช้จ่ายการเดินทางและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานสู้วิกฤติ COVID-19 ให้กับ อสม. อสส. และ สพฉ. จำนวนกว่า 1 ล้านรายทั่วประเทศ โดยมอบส่วนลด ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทในอัตราลิตรละ 0.80 บาท ณ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ จำนวน 1,000,000 สิทธิ์ ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 30 กันยายน 2564
  • thumbnail
    30 ส.ค. 2564
    บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ระลอกที่ 3 โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นระยะเวลา 8 เดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้ - เดือนที่ 1 - 2 พักชำระหนี้ (พักเงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 2 เดือน) คิดกำไรตามปกติ โดยค่างวดที่พักชำระ ให้นำไปชำระงวดสุดท้ายของสัญญา - เดือนที่ 3 - 8 พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยเงินต้นที่พักชำระ ให้นำไปชำระงวดสุดท้ายของสัญญา - บสอ. จะยกเว้นเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อผ่านช่องทางดังนี้ โทร.02 055 5999 ต่อ 2202-2207 และ 2266-2273 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. หรือทางเว็บไซต์ของ บสอ. www.iam-asset.co.th และช่องทางออนไลน์ Facebook : islamicbank.asset หรือ Line Official Account : @iamasset
  • thumbnail
    24 ส.ค. 2564
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)) โดยให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2566 พร้อมทั้งรับทราบมาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการไปควบคู่กัน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนและผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรได้ดำเนินมาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปพร้อมกัน ดังนี้ 1. ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่ง และการชำระภาษีอากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เงินหรือสภาพคล่องอยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการให้ยาวนานขึ้น และเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้งานบริการของภาครัฐให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่บ้านภายใต้แนวคิด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ การขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้อยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจประมาณ 181,221 ล้านบาท ได้แก่ (1) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 ภ.ง.ด.52 และภ.ง.ด.55) งบการเงิน และ Disclosure Form จากภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 (2) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2564 (ภ.ง.ด.51) จากภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 (3) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับปีภาษี 2564 (ภ.ง.ด.94) จากภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 (4) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้ หัก ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 ภ.ง.ด.53 และภ.ง.ด.54) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) จากภายในวันที่ 7 หรือ 15 ของเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 29 ตุลาคม 2564 30 พฤศจิกายน 2564 และ 30 ธันวาคม 2564 2. งดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับกรณีที่ประชาชนและผู้ประกอบการไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการฯ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลา หรือยื่นแบบแสดงรายการฯ ผิดพลาด สำหรับแบบที่ต้องยื่นภายในเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 ตามลำดับ โดยหากยื่นแบบฯ ภายใน 3 เดือน นับแต่พ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ที่ได้ขยายออกไปข้างต้นจะได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับ โดยงดเบี้ยปรับเมื่อชำระภาษีและเงินเพิ่มครบถ้วน และลดเบี้ยปรับในอัตราต่ำสุดร้อยละ 2 เมื่อชำระภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของภาษีที่ต้องชำระ นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้ลดค่าปรับทางอาญากรณีดังกล่าวให้เหลืออัตราต่ำสุด โดยหากมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ลดเหลือ 1 บาท หากมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ลดเหลือ 2 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากค่าปรับทางอาญาเป็นการเปรียบเทียบปรับแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี จึงไม่อาจงดค่าปรับให้ได้” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) 1161 สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพากร โทร. 0 2272 9529 – 30 โทรสาร 0 2617 3324 หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) 1161
  • thumbnail
    23 ส.ค. 2564
    ธ.ก.ส. แจงมาตรการพักชำระหนี้ต้นเงิน 1 ปีตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดมีนาคม 2565 และพักชําระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกําหนดเป็นระยะเวลา 2 เดือน นับจากงวดชําระเดิม ตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ ให้กับเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID - 19 โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิ์กว่า 3.58 ล้านราย ต้นเงินกู้กว่า 1.05 ล้านล้านบาท พร้อมเร่งให้ผู้ที่สนใจแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ผ่าน LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th และ Call Center 02 555 0555 และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึง 15 ธ.ค.นี้ นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มแพร่ระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ หรือการเลื่อนงวดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้า ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ได้ดำเนินโครงการพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามความสมัครใจ (พักหนี้โควิดภาคสมัครใจ) ให้กับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้หรือดอกเบี้ยคงเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และไม่มีสถานะเป็นหนี้ค้าง (NPLs) เพื่อเป็นการผ่อนคลายความกังวลใจและลดภาระการชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นการชั่วคราว ให้สามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยมีจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 3,585,296 ราย ต้นเงินกว่า 1,051,546 ล้านบาท สำหรับลูกค้าที่ได้รับประโยชน์ตามมาตรการดังกล่าวแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มลูกค้าเกษตรกรและบุคคล 2) กลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) และสถาบัน ได้แก่ กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ) 3) กลุ่มลูกค้าที่มีหนี้เงินกู้ตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 1-2 โดยมีเงื่อนไขกรณีงวดชำระรายปี พักชําระเงินต้นที่ถึงกําหนดชําระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2565 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชําระเดิม และกรณีงวดชําระรายเดือน/รายไตรมาส/ราย 6 เดือน พักชำระต้นเงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2564 โดยนำต้นเงินงวดตามที่ลูกค้าสมัครเข้าร่วมโครงการและต้นเงินงวดเดือนถัดไป (รวม 2 งวด) ไปรวมไว้กับงวดสุดท้ายของสัญญา ทั้งนี้ ทุกกรณีงวดชำระจะได้รับการพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2564 เป็นระยะเวลา 2 เดือน นับจากงวดชำระเดิม และ 4) กลุ่มลูกค้าที่ใช้สินเชื่อระบบอิสลาม ทั้งที่เป็น เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการและสถาบัน (กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ) โดยในกรณีที่มีงวดชำระรายปี จะพักชำระทุนเงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2565 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชำระเดิม และพักชำระค่าธรรมเนียม/กำไรที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2564 เป็นระยะเวลา 2 เดือน นับจากงวดชำระเดิม และกรณีงวดชําระรายเดือน/รายไตรมาส/ราย 6 เดือน พักชำระทุนเงินและค่าธรรมเนียม/กำไรสำหรับสัญญาที่มีงวดชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2564 (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) ทั้งนี้ โครงการพักชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นต้องไม่เป็นสัญญาเงินกู้ที่อยู่ในโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือหรือมีเงื่อนไขพิเศษตามมาตรการอื่น และโครงการนโยบายรัฐ รวมถึงโครงการสินเชื่อบุคลากรภาครัฐหรือโครงการอื่นที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวในขณะนี้มีลูกค้า ธ.ก.ส.ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว 194,728 ราย แบ่งเป็นลูกค้ารายบุคคลจำนวน 187,792 ราย และลูกค้าประเภทสถาบันและ นิติบุคคลจำนวน 6,936 แห่ง โดยลูกค้าที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ https://www.baac.or.th และ Call Center 02 555 0555 หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2564
  • thumbnail
    16 ส.ค. 2564
    ธนาคารออมสิน จัดทำโครงการใหญ่ “ออมสินห่วงใย ส่งกำลังใจให้สังคม” บริจาคเงินกว่า 15 ล้านบาท สนับสนุนภารกิจสู้ภัย COVID-19 พร้อมประกาศเปิดตัวเพจ “ออมสินห่วงใย” สร้างศูนย์กลางความช่วยเหลือ แห่งใหม่บนโลกโซเชียล ร่วมด้วยทีมไรเดอร์ออมสินห่วงใย อาสาจัดส่งยาและเวชภัณฑ์แก่ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดพื้นที่ระบาดใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยที่ขณะนี้มีผู้ป่วยและผู้เดือดร้อนที่รอรับความช่วยเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ธนาคารออมสินจึงริเริ่มจัดทำ โครงการ “ออมสินห่วงใย ส่งกำลังใจให้สังคม” บริจาคเงิน 15 ล้านบาท มอบความช่วยเหลือสู้ภัย COVID-19 แก่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การบริจาคเงินจัดตั้งศูนย์พักคอย กทม. รองรับผู้ป่วยสีเขียว การบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนาม ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ และการบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลศรีธัญญา นอกจากนี้ ธนาคารได้มอบทรัพย์สินที่รอการขาย (NPA) ให้ทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำเป็นสถานที่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (Local Quarantine) หรือศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ของแต่ละพื้นที่ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาลัยออมสิน (ศูนย์การเรียนรู้ส่องแสง) ซึ่งเป็นอาคารเรียน บ้านพัก และหอประชุม บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมถึงอาคาร บ้านเรือน และรีสอร์ตอีกหลายแห่ง ในจังหวัดลำปาง ลพบุรี พิษณุโลก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการส่งมอบพื้นที่แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดตั้งศูนย์ฯ และเตรียมขยายผลดำเนินการในจังหวัดอื่นต่อไป ด้านการช่วยเหลือระดับชุมชนและประชาชน ธนาคารได้เปิดตัว เฟสบุ๊กเพจ “ออมสินห่วงใย” อาสาเป็นศูนย์รวมความช่วยเหลือแห่งใหม่บนโลกโซเชียล ให้ผู้ป่วยหรือผู้เดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น โดยเพจออมสินห่วงใยพร้อมให้ความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่ (1) บริการ “ไรเดอร์ออมสินห่วงใย” จัดส่งยา เวชภัณฑ์ หรือสิ่งของยังชีพ ทั้งที่เป็นการส่งให้ผู้ที่ติดต่อเพจออมสินห่วงใยโดยตรง และช่วยภารกิจของหน่วยงานหรือกลุ่มจิตอาสาที่ขาดแคลนกำลังคนในการส่งของให้ผู้ป่วย (2) การบริจาคอาหารฟรี ทั้งอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง และ (3) การช่วยเหลือหน่วยงาน พันธมิตร และกลุ่มจิตอาสา ทำภารกิจช่วยเหลือผู้เดือดร้อนของแต่ละเครือข่าย เช่น สปสช. กลุ่มเส้นด้าย เพจอีจัน เพจเราต้องรอด We Care Network ตลอดจนสถานพยาบาลในพื้นที่ธนาคารออมสินภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถติดตามข้อมูล หรือแจ้งรายละเอียดความช่วยเหลือที่ต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยกดไลค์และติดตามเพจ “ออมสินห่วงใย” เพียงคลิก facebook/GSBfightCOVID หรือเข้า facebook พิมพ์ค้นหา “ออมสินห่วงใย” ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป
  • thumbnail
    14 ส.ค. 2564
    ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า จากที่ธนาคารได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทางการ ผ่านมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน โดยเปิดให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และกำหนดปิดรับแจ้งความประสงค์ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าธนาคารเข้าถึงมาตรการได้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ธนาคารได้ขยายระยะเวลาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน ออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 นี้ โดยลูกค้าธนาคารสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของธนาคาร เช่น เว็บไซต์ https://www.smebank.co.th , LINE OA : SME Development Bank และแอปพลิเคชัน SME D Bank ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
  • thumbnail
    13 ส.ค. 2564
    ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการใหม่ ช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPL หรือ ลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ให้ผ่อนชำระเงินงวดพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำเป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา 1 ปี เริ่มต้นเดือนที่ 1-3 ผ่อนชำระงวดละเพียง 1,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ต่อปี [ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด] ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPL ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ได้รับการลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ NPL สามารถผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารต่อไปได้ และมีการติดต่อกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนชำระได้ปกติและได้มีบ้านเป็นของตนเอง ธอส. จึงได้จัดทำมาตรการที่ 17 [M 17] ช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPL ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็น เดือนที่ 1-3 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี [ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ] เดือนที่ 4-6 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี กรณีเงินต้นคงเหลือ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี เงินงวดจะอยู่ที่ 1,800 บาทต่อเดือน ขณะที่เดือนที่ 7-12 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี กรณีเงินต้นคงเหลือ 1 ล้านบาท เงินงวดจะอยู่ที่ 3,500 บาท ทั้งนี้ หากลูกหนี้ชำระเกินที่ธนาคารจำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกหนี้(ถ้ามี) สำหรับลูกหนี้ที่มีสิทธิ์เข้ามาตรการ คือ ลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน) หรือ ลูกหนี้ที่ยังมีสถานะเป็น NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร (จะพ้นสิทธิตามมาตรการเดิมเมื่อเปลี่ยนมาใช้มาตรการนี้) และต้องเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดตามสัญญาเงินกู้ หรือตามข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ หรือตามคำพิพากษาได้ “นอกจากลดภาระในการผ่อนชำระรายเดือนให้กับลูกหนี้แล้ว มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPL ยังช่วยให้ลูกหนี้ NPL เปลี่ยนกลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยและเงินงวดปกติได้ในระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น เพียงผ่อนเงินงวดจำนวน 1,000 บาท ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรก จึงเชื่อว่ามาตรการนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ และผ่อนชำระได้ต่อเนื่องตลอดรอดฝั่งจนปิดภาระหนี้ได้ในท้ายที่สุด ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ ธอส. ที่ต้องการช่วยเหลือดูแลให้ลูกค้าได้มีบ้านเป็นของตนเองและครอบครัว”นายฉัตรชัย กล่าว ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และต้องส่งหลักฐานการได้รับผลกระทบทางรายได้จากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น หลักฐานรายได้ หนังสือรับรองการลด วัน เวลา เงินเดือน/ค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานต้นสังกัด/นายจ้าง หรือรูปถ่ายกิจการ เป็นต้น เพื่อให้ธนาคารพิจารณา ด้วยการ Upload ผ่านทาง Application : GHB ALL กรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคาร ได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL ฝ่ายสื่อสารองค์กร 13 สิงหาคม 2564
  • thumbnail
    13 ส.ค. 2564
    ดร.กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงาน “EXIM One Solution Forum” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “วัคซีนประกันการส่งออก (Export Credit Insurance : ECI) ส่งออกมั่นใจ ยังไงก็ไม่โดนเท” ทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการและสาธารณชน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ว่า ขณะที่ภาคการส่งออกไทยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2564 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีฐานทุนน้อยและเปราะบางต่อความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้หลายกิจการทั่วโลกประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งบางแห่งอาจไม่แสดงอาการ เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากสถิติการล้มละลายในปี 2563 ของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ลดลงสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะเดียวกันหลายกิจการยังมีสภาพคล่องดี แต่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ หากผู้ส่งออกไทยค้าขายกับคู่ค้าเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า “ประกันการส่งออก” จึงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้ส่งออกจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจนขาดสภาพคล่องธุรกิจ หรืออาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทั้งยังช่วยให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐบาลทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้ ทั้งภาคการผลิต การบริการ และการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ 2. การชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากการระบาดของโรคและมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางรายการที่ใช้ในการผลิตสินค้า และ 3. กำลังซื้อลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานหรือลดชั่วโมงการทำงาน ภาคธุรกิจทั่วโลกจึงต้องปรับตัวและได้รับการสนับสนุนด้านการอัดฉีดสภาพคล่องและการพักชำระหนี้ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงพร้อมสนับสนุนใน 4 ด้าน ได้แก่ เงินทุน ช่องทางการค้าออนไลน์ ความรู้ และเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เพื่อช่วยให้ภาคส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง EXIM BANK เป็นองค์กรรับประกันแห่งเดียวของไทยที่มีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นและสะดวก อนุมัติเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ ประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกรู้จักผู้ซื้อดีขึ้น กล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรน และขยายตลาดส่งออกได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนและติดตามหนี้ เมื่อเกิดความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2537 บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ก่อให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกของไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.55 ล้านล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เป็นมูลค่ากว่า 22.6 ล้านบาท โดยประมาณ 66% มีสาเหตุจากผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาอีก 26% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 8% ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ทั้งนี้ EXIM BANK มีบริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ ตลอดจนบริการประกันการส่งออก คุ้มครองความเสี่ยงของผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการค้า ได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า และความเสี่ยงของประเทศผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการเมือง ได้แก่ การควบคุมการโอนเงินจากประเทศผู้ซื้อมายังประเทศไทย การห้ามนำเข้าสินค้าหรือยกเลิกสิทธิการนำเข้า และการเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร บริการประกันการส่งออกเพื่อ SMEs ในปี 2564 ได้แก่ EXIM for Small Biz สำหรับ SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาท ค่าเบี้ยเริ่มต้นเพียง 600 บาท คุ้มครองสูงถึง 1 แสนบาท ให้ความคุ้มครอง 80% ของมูลค่าความเสียหาย และ EXIM Smart SMEs สำหรับ SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ความคุ้มครองสูงถึง 90% ของมูลค่าความเสียหาย ผู้ส่งออกที่มีประวัติดี ไม่มีเคลม จะได้รับเงินคืนสูงสุด 10% “ในวิกฤตโควิด-19 ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้าหรือชำระไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีความยากลำบากและต้นทุนสูงมากในการติดตามหนี้ กลายเป็นหนี้สูญเพราะผู้ซื้อในต่างประเทศขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับการค้าขายล็อตใหญ่กับผู้ซื้อที่ดูน่าเชื่อถือหรือมีความเสี่ยงต่ำ EXIM BANK ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนจึงเร่งขยายบริการประกันการส่งออกให้ผู้ส่งออกไทยใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจค้าขายกับใคร ตลาดใด จำนวนเท่าไร หรือแม้แต่ให้เครดิตเทอมนานขึ้นแก่ผู้ซื้อที่ EXIM BANK ให้การรับประกัน ทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว ทั้งนี้ คุณจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ รวมถึงให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ และคุณจิระพงษ์ สันติภิรมย์กุล กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งออก โดยใช้บริการประกันการส่งออกเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 4120-4